หน้าแรก / บริการอื่นๆ / ขับรถทางไกลเลี่ยง "กาแฟ-เครื่องดื่มชูกำลัง" แก้ง่วง ชี้ดื่มมากเกินทำใจสั่น มือสั่น ร่างกายอ่อนล้า
บริการอื่นๆ
ขับรถทางไกลเลี่ยง "กาแฟ-เครื่องดื่มชูกำลัง" แก้ง่วง ชี้ดื่มมากเกินทำใจสั่น มือสั่น ร่างกายอ่อนล้า

สงกรานต์นี้ !!!  เตรียมร่างกาย ตรวจสภาพรถให้พร้อมเดินทางช่วงสงกรานต์ ผู้ป่วยเบาหวานพกลูกอมไว้ใช้ยามฉุกเฉิน เมื่อรู้สึกใจสั่น เตือนอย่าดื่มกาแฟมากเกิน 4 แก้ว เสี่ยงมือสั่น ใจสั่น ควรเลี้ยงเครื่องดื่มชูกำลังด้วย เหตุทำร่างกายละเลยพักผ่อน ยิ่งมึนงงอ่อนล้า ให้ดื่มน้ำสะอาด กินผลไม้รสเปรี้ยวช่วยต้านทานเหนื่อยล้าได้ 

      ช่วงเทศกาลสงกรานต์ ขอให้ประชาชนดูแลสุขภาพ เตรียมร่างกายให้พร้อมก่อนออกเดินทาง นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอไม่ต่ำกว่า 8 ชั่วโมง ผู้มีโรคประจำตัว เช่น เบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ จัดเตรียมยาที่รับประทานประจำติดไปด้วย และรับประทานยาตามแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ อย่าให้ขาดยา ในช่วงการเดินทาง ผู้ป่วยเบาหวานอาจรับประทานอาหารไม่ตรงเวลา และรับประทานได้น้อยจากสภาพอากาศร้อน ทำให้เกิดภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำ จึงควรมีขนมหวานหรือพกลูกอมติดตัวไว้ด้วย หากมีอาการอ่อนเพลียใจสั่น เหงื่อออก หรือปวดศีรษะ ตามัว ให้อมลูกอมหรือดื่มน้ำหวานทันที และให้พกบัตรที่แสดงว่าเป็นผู้ป่วยโรคเบาหวานและยาที่ใช้ตลอดเวลาที่เดินทาง เพื่อให้แพทย์สามารถให้การรักษาอย่างรวดเร็ว แต่หากมีอาการปัสสาวะบ่อยมากกว่าปกติ ผิวหนังร้อนผ่าว คลื่นไส้ อาเจียน หายใจมีกลิ่นคล้ายผลไม้แสดงว่ามีระดับน้ำตาลในเลือดสูง ต้องรีบนำส่งโรงพยาบาลทันที หากปล่อยไว้อาจทำให้ผู้ป่วยหมดสติได้

       นอกจากนี้ ช่วงฤดูร้อนปีนี้สภาพอากาศร้อนจัด อาจทำให้ร่างกายเกิดภาวะขาดน้ำได้ ผู้ป่วยบางโรค เช่น
โรคความดันโลหิตสูง โรคไต โรคหัวใจ ไมเกรนหรือลมชัก อาจมีอาการรุนแรงขึ้น จึงขอให้หลีกเลี่ยงการอยู่ท่ามกลางอากาศร้อน นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพออย่างน้อยวันละ 6-8 ชั่วโมง และควรดื่มน้ำให้เพียงพอวันละ 2-3 ลิตร ทั้งนี้ ขอให้ทุกคนเดินทางกลับบ้านและท่องเที่ยวอย่างปลอดภัย ก่อนเดินทางอย่าลืมวางแผนการเดินทาง ศึกษาเส้นทาง ตรวจเช็กความพร้อมของรถ ผู้ขับรถต้องเตรียมร่างกายให้พร้อม ไม่ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  ไม่กินยาที่ทำให้ง่วง เช่น ยาลดน้ำมูก ยาภูมิแพ้ ยาแก้ไอ ขณะขับขี่ทางไกลหากง่วง ควรหยุดนอนพักในจุดที่ปลอดภัย ขับรถตามกฎจราจร “ดื่มไม่ขับ ง่วงไม่ขับ ไม่ขับเร็ว คาดเข็มขัดนิรภัย และสวมหมวกกันน็อคทุกครั้งที่ขับขี่” หากประสบเหตุ/เจ็บป่วยฉุกเฉินโทรสายด่วน 1669

       ระหว่างการเดินทางช่วงสงกรานต์ ผู้ขับรถอาจมีอาการง่วงและเหนื่อยล้า อ่อนเพลีย ผู้ขับรถบางรายจึงใช้วิธีการดื่มกาแฟ ซึ่งมีสารคาเฟอีนเพื่อกระตุ้นให้ร่างกายตื่นตัว แต่หากดื่มกาแฟมากกว่า 4 แก้วต่อวันจะทำให้ร่างกายได้รับคาเฟอีนมากถึง 500 - 1,000 มิลลิกรัม ทั้งที่โดยปกติร่างกายควรได้รับคาเฟอีนไม่เกิน 400 มิลลิกรัมต่อวันเท่านั้น จึงอาจส่งผลให้อาการหัวใจ เต้นเร็ว มือสั่น ใจสั่น และยังส่งผลต่อระบบทางเดินปัสสาวะด้วย เพราะเมื่อดื่มกาแฟไปแล้วประมาณ 30 นาทีถึง 1 ชั่วโมง คาเฟอีนจะออกฤทธิ์และภายในระยะเวลา 4 ชั่วโมง สารคาเฟอีนกว่าครึ่งจะถูกขับออกมาพร้อมกับปัสสาวะที่เพิ่มมากขึ้น

“นอกจากนี้ เครื่องดื่มประเภทชูกำลังก็ควรงดหรือเลี่ยงเช่นเดียวกัน เพราะแม้หลายคนจะมีความเชื่อว่า เครื่องดื่มชูกำลังจะทำให้ร่างกายตื่นตัว ไม่ง่วง แต่ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้ยิ่งละเลยการพักผ่อน ทำให้ยิ่งอ่อนล้าจนมีอาการมึนงง อีกทั้งยังส่งผลให้หัวใจเต้นเร็ว หายใจถี่ และเสี่ยงโรคความดันโลหิตสูง โรคหลอดเลือดและหัวใจตามมาในระยะยาวได้ ดังนั้น ผู้ขับรถทางไกลควรเปลี่ยนเป็นดื่มน้ำสะอาดให้เพียงพอ 6 - 8 แก้วต่อวันหรือกินผลไม้สด หรือ ดื่มน้ำผลไม้คั้นสดรสเปรี้ยวที่เป็นแหล่งวิตามินซี เช่น ส้ม ฝรั่ง มะม่วงดิบ หรือสับปะรด แทนจะดีกว่า เพราะวิตามินซีจะช่วยต้านความเหนื่อยล้าที่มาจากความเครียดและกังวลขณะขับรถได้”

 

ขอบคุณแหล่งที่มา : https://mgronline.com/qol/detail/9620000036154