หน้าแรก / บริการอื่นๆ / 12 คำสำคัญ ที่คนซื้อ “ประกันรถยนต์” ต้องรู้!
บริการอื่นๆ
12 คำสำคัญ ที่คนซื้อ “ประกันรถยนต์” ต้องรู้!

     สำหรับคนทั่วไปหรือผู้ที่อยากจะเลือกซื้อประกันรถยนต์ เวลาหาข้อมูลรายละเอียดต่างๆ น่าจะเคยพบกับคำศัพท์บางคำที่ไม่คุ้นหู ซึ่งคำเหล่านั้นส่วนใหญ่ก็จะเป็นสิ่งสำคัญที่เราทุกคนควรทำความเข้าใจ เพื่อจะได้เลือกซื้อประกันได้อย่างคุ้มค่าที่สุด

     เพื่อให้การเลือกซื้อประกันง่ายยิ่งขึ้นกว่าเดิม ซันเดย์ได้รวบรวมเอา “คำศัพท์เกี่ยวกับประกันรถยนต์” สำคัญๆ ที่เรามักจะได้ยินบ่อยตอนที่อ่านหรือเลือกซื้อความคุ้มครอง พร้อมอธิบายให้คุณเข้าใจได้ง่าย มาไว้ที่เดียวกัน

 

ส่วนจะมีคำไหนบ้าง? ตามมาดูกันเลยดีกว่า 


1. ประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ (พ.ร.บ.)

    ประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ อธิบายง่ายๆ ก็คือประกันภัยที่กฏหมายบังคับให้รถทุกคันต้องมี โดยจะต้องทำเป็นประจำทุกปีจึงจะสามารถเสียภาษีรถยนต์รายปีได้ มีข้อดีก็คือ เป็นประกันที่ช่วยคุ้มครองการบาดเจ็บและเสียชีวิตของผู้ขับขี่ รวมถึงบุคคลอื่นอันมีสาเหตุมาจากรถคันนั้น (ความคุ้มครองจำกัดสูงสุดเพียง 500,000 บาท) แต่มีข้อจำกัดก็คือไม่ช่วยคุ้มครองความเสียหายต่อยานพาหนะใดๆ ดังนั้น หากรถของเราเกิดอุบัติเหตุเสียหายก็จะไม่ได้รับการคุ้มครองนั่นเอง

แน่นอนว่าเมื่อเป็นประกันรถยนต์ภาคบังคับ จึงมีบทลงโทษทางกฏหมาย เช่น ถ้าเจ้าของรถถูกตรวจสอบได้ว่าไม่ได้ต่อ พ.ร.บ. จะต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือถ้าใครนำรถที่ไม่ได้ต่อ พ.ร.บ. มาใช้งาน จะต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท เป็นต้น


2. ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ

    ประกันภัยรถยนต์ภาคสมัครใจ คือ ประกันภัยรถยนต์ที่ไม่ได้บังคับให้ต้องมี เราทุกคนสามารถซื้อเพิ่มเองได้เพื่อความสบายใจในการขับขี่ ประกันประเภทนี้จะมีหลายรูปแบบ หลายความคุ้มครอง โดยแบ่งประเภทคร่าวๆ ตามรูปแบบของการคุ้มครอง


3. ภาษีรถยนต์ 

    ภาษีรถยนต์ หรือ การต่อทะเบียนรถยนต์ เป็นสิ่งที่เจ้าของรถยนต์ทุกคันต้องทำเป็นประจำทุกปีตามกฏหมาย โดยกรมการขนส่งทางบก พ.ศ. 2522 ได้มีการระบุเอาไว้ ซึ่งจำนวนภาษีที่จะต้องจ่ายนั้นจะขึ้นอยู่กับความจุกระบอกสูบ (ลูกบาศก์เมตร, ซีซี) ของรถแต่ละคัน นอกจากนั้นการจะชำระภาษีรถยนต์ได้ จะต้องมีการต่ออายุประกันภัยรถยนต์ภาคบังคับ (พ.ร.บ.) ไปพร้อมกัน เพื่อเป็นหลักประกันเบื้องต้นเมื่อเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนน โดยเมื่อคุณชำระภาษีเรียบร้อยแล้ว รถทุกคันจะได้รับสติกเกอร์สำหรับเอาไว้ติดที่หน้ากระจกรถยนต์ ซึ่งถือเป็นเอกสารสำคัญที่จะมีการตรวจสอบทุกครั้งหลังจากการเกิดเหตุใดๆ ก็ตาม

ข้อควรระวังของการต่อภาษีรถยนต์ก็คือ เราควรดำเนินการต่อภาษีรถยนต์ภายในระยะเวลาที่กำหนดทุกปี หากดำเนินการล่าช้าจะมีค่าปรับร้อยละ 1 ต่อเดือน ทั้งนี้ ถ้าเราขาดการต่อภาษีรถยนต์ติดต่อกัน 3 ปี ก็จะทำให้ทะเบียนรถยนต์ถูกระงับ จำเป็นต้องไปขอทะเบียนใหม่ที่กรมการขนส่งทางบกซึ่งมีความยุ่งยาก แถมยังอาจจะโดนเรียกภาษีย้อนหลังอีกด้วย 


4. การตรวจสภาพรถยนต์

    การตรวจสภาพรถยนต์ คือ ขั้นตอนสำคัญที่เจ้าของรถยนต์ที่มีอายุเกินกว่า 7 ปีขึ้นไป (นับตั้งแต่วันที่จดทะเบียนครั้งแรก) จะต้องเข้ารับบริการตรวจสอบก่อนที่จะสามารถรับการต่อภาษีรถยนต์ประจำปีนั้นๆ ได้  

ซึ่งการตรวจสภาพรถยนต์นั้น เราจะต้องนำรถยนต์นั้นเข้าไปที่ ตรอ. ซึ่งย่อมาจาก สถานตรวจสภาพรถเอกชน ทำหน้าที่คล้ายกับศูนย์บริการขนาดเล็ก ที่ได้รับอนุญาตจากกรมการขนส่งทางบกอย่างเป็นทางการ ซึ่งเมื่อคุณนำรถยนต์เข้าไปติดต่อแล้ว ทาง ตรอ. จะดำเนินการตรวจสอบตัวรถของคุณว่ายังมีสภาพดี ใช้งานได้อย่างปลอดภัยหรือไม่ อาทิ การตรวจความพร้อมของสัญญาณไฟรอบคัน ไฟหน้า ไฟสูง ไฟหรี่ ไฟกะพริบ ตรวจสภาพของการเบรก ตรวจสภาพล้อหน้าและล้อหลัง ตรวจควันดำ ฯลฯ เพื่อให้แน่ใจว่ารถยนต์คันนั้นอยู่ในสภาพที่พร้อมใช้งานบนท้องถนนและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด

  • รถที่อยู่ในข่ายต้องตรวจสภาพรถก่อนเสียภาษีประจำปีมีดังนี้ 
  • รถยนต์นั่งส่วนบุคคลไม่เกิน 7 คน ที่มีอายุใช้งานครบ 7 ปี ขึ้นไป 
  • รถยนต์นั่งส่วนบุคคลเกิน 7 คน ที่มีอายุใช้งานครบ 7 ปี ขึ้นไป
  • รถยนต์บรรทุกส่วนบุคคล ที่มีอายุใช้งานครบ 7 ปี ขึ้นไป 
  • รถจักรยานยนต์ ที่มีอายุใช้งานครบ 5 ปี ขึ้นไป

5. ค่าความเสียหายส่วนแรกภาคบังคับ (Excess)

    ค่าความเสียหายส่วนแรกภาคบังคับ หรือที่หลายๆ คนอาจจะเรียกกันติดปากว่าค่าเอ็กเซป หรือแอ็กเซป คือ ค่าใช้จ่ายที่ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัยบังคับเก็บทุกคนไม่ว่าคุณจะทำประกันชั้นใดก็ตาม

เป้าหมายของการเก็บค่าเสียหายส่วนแรกภาคบังคับ (Excess) เพื่อป้องกันไม่ให้คนขับแจ้งเคลมโดยที่ไม่มีอุบัติเหตุเกิดขึ้นจริงเพื่อหวังซ่อมรถฟรี นั่นเอง


6. ค่าความเสียหายส่วนแรกภาคสมัครใจ (Deductible)

    ค่าความเสียหายส่วนแรกภาคสมัครใจ คือ ค่าใช้จ่ายที่คุณซึ่งเป็นคนซื้อประกันยินยอมชำระโดยสมัครใจ ทุกครั้งที่เกิดการเคลมในอุบัติเหตุที่คุณเป็นฝ่ายผิด ยิ่งคุณยินยอมจ่ายค่าเสียหายส่วนแรกมาก ค่าเบี้ยประกันก็จะถูกลง

เป้าหมายของการเก็บค่าเสียหายส่วนแรกภาคสมัครใจนั้น ก็เพื่อช่วยประหยัดค่าเบี้ยประกันที่คุณต้องชำระในการซื้อประกัน นอกจากนั้นยังช่วยกระตุ้นให้คนขับขี่รถยนต์มีความระมัดระวังมากขึ้นได้อีกทางหนึ่ง 


7. ส่วนลดเบี้ยประกัน

    ส่วนลดเบี้ยประกัน คือการที่คุณสามารถใช้สิทธิ์ในการซื้อประกันรถยนต์ได้โดยชำระค่าเบี้ยประกันลดลง ช่วยเพิ่มความคุ้มค่าและประหยัดค่าใช้จ่ายได้อีกทางหนึ่ง ส่วนลดเบี้ยประกันนี้ จะมีทั้งส่วนลดที่คุณสามารถขอใช้สิทธิ์ได้ตามที่กฏหมายระบุเอาไว้ อาทิ ส่วนลดประวัติดี ส่วนลดระบุชื่อผู้ขับขี่ ส่วนลดติดกล้องหน้ารถยนต์ และส่วนลดปลอดแอลกอฮอล์ขณะขับขี่ เป็นต้น ซึ่งส่วนลดเหล่านี้จะมีการกำหนดเอาไว้อย่างชัดเจนถึงเงื่อนไขและจำนวนส่วนลดที่คุณจะได้รับ

สำหรับส่วนลดเบี้ยประกันอีกประเภท จะเป็นการมอบสิทธิ์หรือโปรโมชันจากบริษัทประกันแต่ละแห่งแตกต่างกันไป อย่างประกันรถยนต์ซันเดย์เอง ก็จะเปิดโอกาสให้คุณสามารถปรับแต่งความคุ้มครองอื่นๆ ได้อย่างอิสระ (ขึ้นอยู่กับระดับชั้นประกันภัย) เช่น ส่วนลดติดตั้งซูเปอร์แอปฯ Sunday Service หรือโปรโมชันส่งเสริมการขายอื่นๆ ในแต่ละช่วงเวลา

นอกจากนั้น ประกันรถยนต์ซันเดย์ ยังเปิดโอกาสให้คุณสามารถลดค่าเบี้ยประกันได้เพิ่มเติม ผ่านการปรับแต่งความคุ้มครองให้เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของคุณมากที่สุด อาทิ ถ้าคุณไม่ต้องการใช้บริการช่วยเหลือฉุกเฉินบนท้องถนน รถยกกรณีเกิดอุบัติเหตุ บริการเติมน้ำมันฉุกเฉิน บริการพ่วงแบตเตอรี่รถยนต์ ฯลฯ ก็สามารถปรับออกจากกรมธรรม์ของคุณได้ โดยจะมีการแสดงผลลัพธ์ค่าเบี้ยประกันที่คุณต้องชำระให้ทราบทันที เรียกได้ว่าทุกอย่างอยู่ในการควบคุมของคุณ ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือค่าเบี้ยประกัน หรือค่าใช้จ่ายที่คุณจะต้องชำระจะสามารถปรับเปลี่ยนได้โดยไม่มีราคาตายตัว เพื่อให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์การขับขี่ของคุณที่สุด 


8. หมายเลขประจำรถยนต์ 

    หมายเลขประจำรถยนต์ หรือที่เรามักจะเรียกกันว่า เลขตัวถังรถ VIN (Vehicle Identification Number) คือ

หมายเลขที่ใช้ในการจดทะเบียนรถยนต์อย่างถูกต้องตามกฏหมาย โดยรถยนต์แต่ละคันจะมีเลข VIN ระบุเอาไว้ตั้งแต่เริ่มต้นการผลิต ประกอบไปด้วยชุดอักษรและตัวเลข 17 ตัว ซึ่งจะระบุยี่ห้อรุ่นและปีของรถรวมทั้งรายละเอียดในเชิงลึกเกี่ยวกับเครื่องยนต์ ฯลฯ หมายเลขนี้ถือเป็นหนึ่งในข้อมูลที่จำเป็นสำหรับใช้ในการทำประกันรถยนต์ภาคสมัครใจ

โดยส่วนใหญ่ เราจะสามารถค้นหาหมายเลขประจำรถยนต์นี้ได้ บนผนังห้องเครื่องด้านใน ป้ายที่ติดอยู่ด้านบนของคอนโซลด้านหน้า หรือบนสติกเกอร์รับรองคุณภาพของรถยนต์บริเวณเสากลางฝั่งผู้ขับขี่


9. ซ่อมห้าง และซ่อมอู่

    ซ่อมห้าง หรือที่เราเรียกกันว่า “ซ่อมศูนย์” คือการนำรถเข้าซ่อมกับศูนย์บริการรถยนต์ของยี่ห้อนั้นๆ โดยตรงซึ่งจะได้รับบริการจากช่างมืออาชีพที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจากทางศูนย์บริการ นอกจากนั้นยังการันตีว่าจะได้รับอะไหล่ของรถยนต์ยี่ห้อนั้นๆ โดยตรง เพียงแต่มีข้อเสียตรงที่อาจจะต้องรอคิวซ่อม หรือใช้ระยะเวลาซ่อมนาน ต้องจ่ายค่าเบี้ยประกันรถยนต์สูงขึ้น รวมถึงบางพื้นที่อาจไม่มีศูนย์บริการที่รองรับเพียงพอ

ซ่อมอู่ คือการนำรถเข้าซ่อมกับอู่ผู้ให้บริการซ่อมรถยนต์ทั่วไป ซึ่งแต่ละอู่ก็จะมีคุณภาพและงานบริการที่แตกต่างกันไป จึงจำเป็นต้องเลือกอู่ที่จะซ่อมให้ดี การซ่อมอู่นี้มีข้อดีก็คือมักจะใช้เวลาซ่อมไม่นานนัก เนื่องจากอู่ซ่อมมีตัวเลือกเยอะกว่าการซ่อมศูนย์ นอกจากนั้นยังสามารถเลือกจ่ายเบี้ยประกันรถยนต์ถูกลง แต่ก็อาจจะมีข้อเสียในแง่ของการบริการที่อาจไม่ตอบโจทย์ แต่ปัญหานี้สามารถแก้ได้โดยเลือกซ่อมเฉพาะอู่ในเครือของบริษัทประกันที่ได้รับการรับรอง ซึ่งประกันรถยนต์ซันเดย์นั้นเราได้ทำการคัดสรรอู่ที่มีคุณภาพได้มาตรฐาน เครื่องมือทันสมัย และดำเนินงานโดยผู้เชี่ยวชาญมาให้บริการลูกค้าประกันรถยนต์ซันเดย์โดยเฉพาะ


10. เคลมสด (Fresh claim)

      การเคลมสด คือ การเคลมที่เกิดขึ้นทันทีหลังเกิดอุบัติเหตุรถชนกัน โดยยังมีคู่กรณีอยู่ด้วย (เมื่อเกิดอุบัติเหตุระหว่างรถยนต์กับรถยนต์) ซึ่งจะเป็นการโทรติดต่อให้เจ้าหน้าที่เดินทางไปยังจุดเกิดเหตุ เพื่อตรวจสอบและออกเอกสารสำหรับทำเรื่องเคลมทันที แต่หากอุบัติเหตุนั้นเกิดมีผู้บาดเจ็บขึ้นมา ก็อาจจะต้องมีการเดินทางไปแจ้งความที่โรงพัก โดยใช้หลักฐานเป็นใบขับขี่ และหน้ากรมธรรม์ประกันภัยที่เราทำไว้


11. เคลมแห้ง (Dry claim)

      การเคลมแห้ง คือ การเคลมที่เกิดขึ้นหลังจากอุบัติเหตุนั้นผ่านไปแล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นความเสียหายเล็กๆ น้อยๆ ที่เกิดขึ้นจากคู่กรณีไม่ใช่รถยนต์ เช่น อุบัติเหตุจากการขับไปชนกับวัตถุอย่างเสาไฟ กำแพง ป้าย ขอบถนน ราวสะพาน ฯลฯ จนทำให้ตัวรถเกิดรอยขูดขีด หรือรอยบุบเสียหาย โดยที่ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการขับขี่โดยตรง รวมถึงไม่มีผู้ได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ 

ทั้งนี้ การเคลมแห้งแบบมีคู่กรณีที่ไม่ใช่รถยนต์นั้นจะมีในประกันรถยนต์ชั้น 1 เท่านั้น


12. เคลมด้วยตนเอง (Self claim)

      การเคลมด้วยตนเอง (Self claim) คือ การเปลี่ยนรูปแบบการเคลมแห้งแบบเดิมให้ง่ายขึ้น เพียงคุณถ่ายรูปความเสียหายรอบรถยนต์ด้วยตนเอง กรอกรายละเอียดที่จำเป็น แล้วอัปโหลดรูปภาพเข้าแอปที่ทางบริษัทนั้นๆมี เท่านี้ก็สามารถทำเรื่องเคลมได้อย่างรวดเร็ว นอกจากนั้นคุณยังสามารถติดตามงานเคลมไปจนถึงอัปเดตงานซ่อมหลังจากนำรถเข้าซ่อมได้ตลอดเวลาอีกด้วย 


จะเห็นได้ว่าคำศัพท์ที่เกี่ยวกับประกันรถยนต์ที่คุณควรทราบนั้นมีไม่มากเท่าที่คิด และส่วนใหญ่ก็มักจะเป็นประโยชน์สำหรับผู้ที่ต้องการเลือกซื้อประกันรถยนต์แทบทุกคำ ดังนั้นถ้าเราสามารถทำความเข้าใจคำศัพท์เหล่านี้ได้อย่างชัดเจน เราก็จะสามารถรักษาสิทธิทางกฏหมาย รวมถึงสามารถพิจารณาเลือกซื้อประกันที่ตอบโจทย์ไลฟ์สไตล์ของตัวเราเองได้ได้อย่างคุ้มค่าที่สุด