เป็นคนเบื่อง่าย ขับแล้วไม่ถูกใจ รถยนต์รุ่นใหม่สวยกว่าอยากเอารถคันเดิมไปเทิร์น หรือบางกรณีอยากขายเพราะไม่อยากผ่อนต่อ แต่รถยังติดไฟแนนซ์ควรต้องทำอย่างไรให้ถูกต้องตามขั้นตอน เพราะทั้งรถและเล่มทะเบียนยังเป็นของไฟแนนซ์ หากซื้อ-ขายโดยพละการถือว่ามีความผิดตามกฏหมาย วันนี้เราจะพาไปหาคำตอบทั้งหมดกัน !!
รถผ่อนไม่หมดเทิร์นได้ไหม อยากขายสามารถทำได้หรือเปล่า
ไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ หรือ รถมอเตอร์โซต์ที่ยังผ่อนไม่หมด แต่อยากเทิร์นเปลี่ยนเป็น รถใหม่
หรือขายเพื่อนำเงินมาใช้นั้นสามารถทำได้ แม้ผู้เช่าซื้อจะเป็นเพียง “ผู้ครอบครอง” และ “ผู้ถือกรรมสิทธิ์” รวมถึงเล่มทะเบียนยังเป็นของไฟแนนซ์หรือสถาบันการเงิน (เจ้าของรถตัวจริง) ก็สามารถทำได้ ดังนี้
ควรเช็กยอดหนี้คงเหลือกับไฟแนนซ์เสียก่อน
ไม่ว่าจะกรณีขายรถไปเทิร์นรถคันใหม่ หรือขายรถเพราะอยากลดภาระค่าใช้จ่าย เราในฐานะผู้เช่าซื้อควรเช็กกับไฟแนนซ์ให้แน่ใจเสียก่อนว่าเหลือยอดหนี้ทั้งหมดเท่าไร เพื่อที่จะเลือกวิธีขายได้อย่างเหมาะสม โดยเทียบราคาขายรถในขณะนั้น ว่าควรขายเงินสด ขายดาวน์เปลี่ยนสัญญาผ่อนต่อ หรือยกรถให้ผู้เช่าซื้อใหม่ไปผ่อนต่อโดยเปลี่ยนสัญญากับไฟแนนซ์เลยแบบไม่ต้องดาวน์
ซึ่งหากราคาขายของรถสูงกว่ายอดหนี้คงเหลือ (ผ่อนมานานแล้ว) ผู้เช่าซื้อจะขายดาวน์เพื่อรับส่วนต่างที่ผ่อนไปบางส่วน แล้วให้ผู้ซื้อเปลี่ยนสัญญาผ่อนต่อกับไฟแนนซ์ หรือขายเป็นเงินสดก็ได้ โดยเงินส่วนเกินจากการขายหลังปิดยอดไฟแนนซ์แล้วก็จะเป็นของเรา
แต่ในกรณีราคาขายขณะนั้นต่ำกว่ายอดหนี้คงเหลือ (เพราะมีดอกเบี้ย) ก็ทำได้สองวิธี คือ ขายเงินสด และเราเพิ่มเงินส่วนต่างเพื่อปิดยอดหนี้กับไฟแนนซ์ทั้งหมด หรือยกรถให้คนอื่นไปเปลี่ยนสัญญาผ่อนส่วนที่เหลือต่อเอง ภาษาชาวบ้านมักเรียกว่ายกรถให้ไปผ่อนต่อฟรี ๆ
วิธีการขายเทิร์นรถใหม่
รถผ่อนไม่หมดเทิร์นได้ไหม ? คำตอบคือ เทิร์นได้ และกรณีนี้จะเรียกว่าง่ายสุด เพราะผู้ขายรถคันใหม่ให้กับเราจะช่วยแนะนำและอำนวยความสะดวกให้เกือบทุกขั้นตอน แต่เราควรต้องไปปิดยอดหนี้พร้อมกับผู้รับซื้อรถคันเก่าที่ไฟแนนซ์และเก็บใบชำระค่างวดสุดท้าย (ปิดยอด) ไว้เป็นหลักฐานเพื่อความปลอดภัย โดยห้ามปล่อยให้เป็นหน้าที่ของผู้ซื้อไปดำเนินการแต่เพียงฝ่ายเดียวเด็ดขาด
วิธีการขายเงินสดและปิดยอดหนี้ทั้งหมด
ก็เหมือนกับการประกาศขายรถเงินสดทั่วไป เมื่อผู้ขาย และผู้ซื้อตกลงราคากันเป็นที่เรียบร้อย (ไม่ว่าจะเต๊นท์ พ่อค้าคนกลาง หรือบุคคลทั่วไป) ก็นัดชำระเงิน รวมถึงปิดยอดหนี้กันต่อหน้าไฟแนนซ์ที่ผ่อนอยู่ และเก็บสำเนาหลักฐานการชำระงวดสุดท้าย ส่วนขั้นตอนที่เหลือไฟแนนซ์จะเป็นผู้ดำเนินการโอนรถข้ามเป็นชื่อของผู้ซื้อรายใหม่เอง
วิธีการขายดาวน์และให้ผู้ซื้อรายใหม่เปลี่ยนสัญญาผ่อนต่อ
ผู้ขายควรแจ้งประกาศขายดาวน์ให้ชัดเจน ดาวน์เท่าไร ผ่อนต่ออีกกี่งวด งวดละเท่าไร เมื่อมีผู้สนใจและตกลงกันได้เป็นที่เรียบร้อย ต้องไปทำเรื่องเปลี่ยนสัญญาพร้อมกันที่ไฟแนนซ์ให้จบโดยรับหลักฐานยืนยันกันทั้งสองฝ่ายเท่านั้น การซื้อ-ขายกันเองโดยพละการแบบไม่เปลี่ยนสัญญาผ่อนต่อนอกจากจะมีความเสี่ยงแล้ว ยังถือว่ามีความผิดทางกฏหมาย เพราะเราในฐานะ “ผู้เช่าซื้อ” เป็นเพียงผู้ครอบครอง มิใช่ “เจ้าของรถ” จึงไม่มีสิทธิขายรถที่ยังผ่อนไม่หมดได้ หากไฟแนนซ์ “ผู้ถือกรรมสิทธิ์” ไม่ยินยอม ให้เปลี่ยนสัญญาเป็นผู้ซื้อรายใหม่
วิธียกรถให้ผู้ซื้อรายใหม่ไปเปลี่ยนสัญญาผ่อนต่อ
กรณีคล้ายกับขายดาวน์ เพียงแต่ผู้เช่าซื้อจะไม่ได้รับเงินใด ๆ หรือบางครั้งอาจต้องช่วยจ่ายเงินเพิ่มบางส่วนด้วย เพราะยอดหนี้คงเหลือสูงกว่าราคารถ ซึ่งกระทำกันเองโดยพละการไม่ได้ จะต้องไปติดต่อไฟแนนซ์อนุมัติขอเปลี่ยนสัญญาผ่อนต่อเสียก่อน และเก็บเอกสารไว้เป็นหลักฐาน
ผ่อนรถไม่ไหวคืนรถไฟแนนซ์เลยได้ไหม
คำตอบคือ “คืนได้” แต่การคืนรถให้ไฟแนนซ์เพราะผ่อนรถไม่ไหวอาจไม่ได้ทำให้ยอดหนี้คงค้างทั้งหมดหายไป เพราะไฟแนนซ์จะนำรถที่คืนไปขายทอดตลาดผ่านวิธีต่าง ๆ เช่น การประมูล ขายได้เท่าไรก็จะนำเงินมาหักกับยอดหนี้ของผู้เช่าซื้อ และกรณีแบบนี้ราคาขายมักต่ำกว่ายอดหนี้ ดังนั้น ส่วนต่างที่เหลือผู้เช่าซื้อก็ยังต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อไปอยู่ดี
ดังนั้น คำถามที่ว่ารถผ่อนไม่หมดเทิร์นได้ไหม หรือรถผ่อนไม่หมดขายได้หรือเปล่า สรุปคือ สามารถทำได้ ถ้าผู้เช่าซื้อทำอย่างถูกต้องและระมัดระวัง แต่ห้ามกระทำเองอย่างพละการโดยที่ไม่ผ่านไฟแนนซ์ หรือพูดง่าย ๆ ว่าต้องเปลี่ยนสัญญาให้เรียบร้อยเสียก่อนนั่นเอง