หน้าแรก / บริการอื่นๆ / ระวัง! ขับรถหน้าร้อน ต้องระวังอะไรบ้าง ?
บริการอื่นๆ
ระวัง! ขับรถหน้าร้อน ต้องระวังอะไรบ้าง ?

 ระวัง! ขับรถหน้าร้อน ต้องระวังอะไรบ้าง ?

 

  • ยางแตก

หากเปรียบแสงแดดเป็นเชื้อเพลิง ผิวถนนก็ไม่ต่างกับกระทะที่ร้อนระอุเช่นกัน แต่พื้นถนนที่สะสมความร้อนจนร้อนจัดนั้น ไม่ได้มีผลอะไรกับยางรถยนต์จนทำให้ระเบิดได้ เพราะขณะที่รถกำลังวิ่ง แรงลมจะเข้าปะทะกับล้อรถที่หมุน จึงช่วยลดอุณหภูมิลงแม้ยางจะสัมผัสกับถนนโดยตรงก็ตาม แต่เมื่อใดที่ผู้ขับขี่ขับรถด้วยความเร็วเกินพิกัดยางที่กำหนดไว้ หรือสูบลมยางมาก-น้อยจนเกินไป อาจมีผลให้ยางรถยนต์เสียหาย เมื่อขับไปนาน ๆ อาจยางแตกในที่สุดได้เช่นกัน

- วิธีรับมือ

ผู้ขับขี่ควรตรวจสอบลมยาง และสภาพยางรถยนต์ก่อนขับขี่ ไม่ควรปล่อยให้ยางหมดอายุการใช้งาน หรือใช้ยางเก่าที่มีความเสียหาย เช่น แก้มยางมีรอยแตกลายงา บวม ฉีกขาด ดอกยางหมดสภาพ เป็นต้น รวมถึงขับขี่ด้วยอัตราความเร็วที่ไม่เกินกำหนด บรรทุกของด้วยน้ำหนักที่เหมาะสม หรือหากเปลี่ยนยางใหม่ ก็ไม่ควรสวมจุ๊บเติมลมอันเก่าเพื่อความปลอดภัยนั่นเอง

  • ภาพลวงตา

แสงแดดเป็นตัวการทำให้เกิดภาพลวงตาที่เรียกว่ามิราจ (Mirage) ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดจากการหักเหของแสง เนื่องจากอากาศที่ร้อนจัด ทำให้ผิวถนนรวมถึงชั้นอากาศที่อยู่เหนือผิวถนนร้อนตามจนเกิดเป็นชั้นอากาศร้อน และชั้นอากาศเย็นที่แบ่งตัวกัน เมื่อแสงแดดเดินทางผ่านจึงเกิดการหักเห ผู้ขับขี่จึงเห็นภาพสะท้อนบนผิวถนน โดยส่วนหนึ่งสะท้อนภาพวัตถุข้างหน้าตามปกติ อีกส่วนหนึ่งเกิดการโค้ง และสะท้อนภาพเดิมซ้ำจนเห็นเป็นภาพคล้ายบ่อน้ำ อาจทำให้ผู้ขับขี่เกิดความสับสน ต้องใช้สายตามากกว่าปกติ มีอาการตาพร่า ตาล้า แสบตา และเหนื่อยล้าในขณะขับรถนาน ๆ ได้

- วิธีรับมือ

ผู้ขับขี่ไม่ควรโฟกัสที่ถนนเพียงจุดใดจุดหนึ่งจนเกินไป แต่ให้พยายามเปลี่ยนมุมมองสายตาไปทิศทางอื่น ๆ โดยการมองให้รอบด้านมากขึ้น เพื่อเปลี่ยนโฟกัสของดวงตา หรือจะหาตัวช่วยมาบังแสงแดดที่แยงตา เช่น แว่นกันแดด ม่านกันแดด หรือติดฟิล์มกรองแสง จะช่วยลดแสงรบกวนไม่ให้บดบังทัศนียภาพในการขับขี่

  • สภาพร่างกายผู้ขับขี่

อากาศร้อนจัดยังมีผลต่อสุขภาพผู้ขับขี่ อาจเกิดอุบัติเหตุถึงตายได้ เนื่องจากอากาศที่ร้อนจัด การจราจรที่ติดขัด มลภาวะต่าง ๆ รวมถึงสุขภาพของผู้ขับขี่ที่เกิดความเครียดสะสม เป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้ขับขี่มีอาการวูบ หรือหมดสติร่วมด้วย โดยสาเหตุของการวูบเกิดได้หลายปัจจัย เช่น เป็นลม เพราะเลือดไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ การวิงเวียน เพราะมีปัญหาระบบการทรงตัวที่เกิดความผิดปกติของระบบประสาท อาการชักเนื่องจากความผิดปกติชั่วคราวของกระแสไฟฟ้าในสมอง รวมไปถึงความรู้สึกหวิว ๆใจสั่น ที่เกิดจากหัวใจเต้นผิดจังหวะทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองลดลงชั่วคราว เป็นต้น

- วิธีรับมือ

ร่างกายไม่แข็งแรงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุขณะขับขี่ได้ โดยเฉพาะการนอนหลับ ผู้ขับขี่ควรพักผ่อนให้เพียงพอก่อนขับรถทางไกล ทำจิตใจให้ผ่อนคลายจากความตึงเครียด ดื่มน้ำมาก ๆ ส่วนคนมีโรคประจำตัว แนะนำให้หมั่นตรวจสุขภาพเสมอ และหากผู้ขับขี่มีอาการผิดปกติทางร่างกายขณะขับรถ ควรจอดทันที เพราะอาจเสี่ยงหมดสติระหว่างทางได้ จากนั้น ปรับที่นั่งให้อยู่ในท่านอนราบ สังเกตอาการ หากไม่ดีขึ้นให้โทรแจ้งเหตุฉุกเฉิน เพื่อความปลอดภัยทั้งผู้ขับขี่ และเพื่อนร่วมทาง

  • เครื่องยนต์ร้อน

ขณะขับขี่รถยนต์ในสภาพอากาศร้อนจัด อาจทำให้รถทำงานหนัก และเครื่องยนต์เกิดความร้อนสูง ซึ่งสาเหตุที่มักพบเจอได้บ่อย มาจากหม้อน้ำแห้ง โดยผู้ขับขี่สามารถสังเกตเองได้จากเกจ์วัดความร้อน หากรถยนต์ไม่มีเกจ์วัดความร้อน ให้สังเกตจากอุณหภูมิภายในห้องโดยสารที่ร้อนผิดปกติ แอร์เริ่มไม่ค่อยเย็น หรือไฟเตือนที่มาตรวัดว่ามีสัญลักษณ์เตือนอุณหภูมิหรือไม่ หากร้อนจนผิดปกติ ผู้ขับขี่ไม่ควรฝืนขับรถไปต่อ เพราะอาจทำให้เครื่องยนต์ร้อนจนถึงขั้นโอเวอร์ฮีท และเป็นอันตรายได้

- วิธีรับมือ

ผู้ขับขี่ควรรีบปิดแอร์เพื่อลดการทำงานของเครื่องยนต์ จากนั้นค่อย ๆ นำรถเข้าจอดข้างทาง และรีบเปิดฝากระโปรงรถเพื่อระบายความร้อนออกจากห้องเครื่อง ที่สำคัญห้ามเปิดฝาหม้อน้ำในขณะที่เครื่องยนต์ร้อนจัด เพราะไอน้ำร้อนที่มีแรงดันสูงในหม้อน้ำอาจพุ่งขึ้นมาทำให้คุณบาดเจ็บได้ ควรรอให้เครื่องยนต์เริ่มเย็นตัวเสียก่อนจึงเปิดฝาหม้อน้ำ แล้วค่อย ๆ เติมน้ำสะอาดลงไปทีละน้อย เมื่อความร้อนลดลงอยู่ในระดับปกติแล้ว จึงสามารถขับไปที่อู่ หรือศูนย์บริการเพื่อตรวจเช็กต่อไปได้

 

ขอบคุณที่มา : directasia.