
สาเหตุที่ทำให้รถมีอาการเบรกลื่น
เบรกลื่น อันตราย อย่าปล่อยให้เกิดแล้วค่อยแก้
เบรกลื่น เป็นอาการที่ผู้ใช้รถสามารถรู้สึกได้เมื่อ ท่านเหยียบแป้นเบรก แต่รถของท่านไม่สามารถชะลอความเร็ว หรือหยุดรถได้ตามที่ต้องการ ซึ่งเป็นผลมาจาก แรงเสียดทานที่ระบบเบรก นั่นก็คือ จานเบรก และ ผ้าเบรกนั่นเอง
โดยปกติแล้ว เมื่อท่านเหยียบแป้นเบรกจากภายในรถ ขาเบรกที่เชื่อมต่อกับชุดหม้อลม หรือแม่ปั๊มเบรกตัวบน ก็จะทำการส่งแรงดันน้ำมันเบรกไปยังระบบเบรกที่อยู่ตรงดุมล้อ ไม่ว่าจะเป็น ดิสก์เบรกหรือดรัมเบรก ซึ่งแรงดันน้ำมันเบรกที่ส่งมาถึง จะไปทำให้ลูกสูบเบรกไปดันตัวผ้าเบรก ทำให้ผ้าเบรกสัมผัสกับจานเบรก โดยผ้าเบรกจะทำการเสียดสี สร้างแรงเสียดทานกับจานเบรก เพื่อให้การหมุนของดุมล้อสามารถชะลอลงได้
จากการทำงานของผ้าเบรกและจานเบรก ท่านผู้ใช้รถลองคิดดูว่า หากมีอะไรไปแทรกกลาง (เป็นมือที่สาม) ระหว่าง จานเบรกและผ้าเบรก จะเกิดอะไรขึ้น
คำตอบก็คือมันก็จะไม่สามารถสร้างแรงเสียดทานที่เหมาะสมให้กันได้ ทีนี้ ช่างแมทธิวจะที่มีของปัญหา ให้กับท่านผู้ใช้รถให้นะครับ ว่าอาการดังกล่าวมันเกิดขึ้นจาก 3 สาเหตุด้วยกัน
1. วัสดุที่ใช้ทำผ้าเบรก
เนื่องจากแรงเสียดทานของการเบรก ทำให้เกิดความร้อน ซึ่งความร้อนก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ วัสดุต่างๆ มีอุณหภูมิสูงขึ้น รวมไปถึงอาจเปลี่ยนสถานะ ซึ่งวัสดุที่ใช้ทำผ้าเบรกนั้น หากมีอุณหภูมิสูงมากเกินไป ก็จะทำให้เกิดการก๊าซร้อนจากการไหม้ของผ้าเบรกได้ (ก๊าซร้อนที่ปกคลุมผิวจานเบรกและผ้าเบรก จะทำให้เกิดแรงดันรวมไปถึงก๊าซร้อนที่เกิดขึ้น จะมาปกคลุมผิวสัมผัสของผ้าเบรก ณ บริเวณนั้น ทำให้เนื้อผ้าเบรกไม่สามารถจับจานเบรกเพื่อสร้างแรงเสียดทานได้)และสำหรับกรณีนี้ ควรเปลี่ยนผ้าเบรกใหม่สถานเดียวครับ ไม่ควรนำมาดัดแปลงหรือซ่อมแซม ไม่ว่าจะเอากระดาษทราย หรือกรรมวิธีอะไรก็แล้วแต่ เพราะเหตุที่เกิด มาเกิดจากวัสดุส่วนผสมของผ้าเบรกเลยครับผม
2. มลภาวะจากสิ่งแวดล้อม
ที่มาเกาะแกะระหว่างจานเบรกและผ้าเบรก (อย่างที่บอก ว่ามันเป็นมือที่สาม) ไม่ว่าจะเป็นน้ำ ฝุ่น หิน ดิน ทราย และน้ำมัน ซึ่งมักจะประสบพบเจอได้เสมอ ไม่ว่าท่านจะจอดรถไว้ที่ที่ร่ม หรือขับขี่รถตามปกติ เนื่องจากมลภาวะจากสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งกำหนดไม่ได้ แต่ถึงอย่างไร ก็ไม่ต้องเป็นกังวลครับ เพราะระบบเบรกก็สามารถกำจัดสิ่งสกปรกมลภาวะออกจากชุดเบรกได้ เพียงแค่ย้ำเบรกซักเล็กน้อยเพื่อให้ผ้าเบรกกวาดเอามลภาวะที่ผิวจานเบรกออกไป แค่นี้ก็ใช้งานได้ปกติแล้วครับ
3. ผิวหน้าสัมผัสของจานเบรก
เป็นร่อง สึกเป็นเส้น มีการคดโก่ง มีรอยร้าว ซึ่งจะทำให้ผ้าเบรกไม่สามารถจับจานเบรกได้เต็มหน้าสัมผัสผ้าเบรก ทำให้แรงเสียดทานที่เกิดขึ้นลดลง และที่สำคัญ การคดโก่งหรือรอยร้าวบนจานเบรก ก็จะทำให้เบรกมีเสียงและเกิดการสะดุด (เบรกแล้วสั่นสู้เท้า) ซึ่งอาจทำให้เกิดการสูญเสียการทรงตัว จากเบรกได้ เพราะระบบเบรกไม่สามารถสร้างแรงเสียดทานได้สม่ำเสมอ ทำให้การควบคุมรถขณะเบรกไม่สามารถทำได้ดั่งใจอาการนี้ก็ควรจะเปลี่ยนจานเบรกดีที่สุดครับเพื่อความปลอดภัย